ความเครียดกับโรคกรดไหลย้อน
ความเครียด มีความสัมพันธืกับโรคกรดไหลย้อน เพราะความเครียดจะทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางอย่างในสมอง และความเครียดทำให้ระบบในร่างกายทำงานแย่ลง มักจะมีภาวะที่เรียกว่า ภาวะหลอดอาหารมีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น (Esophageal hypersensitivity) หลอดอาหารจึงอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที คือรู้สึกได้ไวมากกว่าคนปกติทั่วไป
อาการของโรคกรดไหลย้อน
อาการของโรคกรดไหลย้อน ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักในแต่ละคน แต่ทั้งนี้จะพบว่ามีอาการที่แบบซ่อนเร้นและแสดงออกมาชัดเจน โดยอาการที่พบได้มาก คือ อาการแสบร้อนกลางอก มีอาการเรอเปรี้ยวบ่อยๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่ชัดเจน หลายๆ อาการที่แตกต่างกันไป เช่น เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือหูอักเสบ ซึ่งอาจทำให้แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของโรค อาจต้องทำการตรวจโดยแพทย์จากหลายสาขา จนพบสาเหตุที่แท้จริง
การรักษาโรคกรดไหลย้อน
เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อดูว่าคนไข้มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ถ้าวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน การรักษาในเบื้องต้น คือ ทำความเข้าใจในเรื่องของสาเหตุที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน รวมถึงแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ร่วมกับการให้ยาลดกรดมาทาน โดยการปรับพฤติกรรมที่แพทย์มักแนะนำคือการปรับเรื่องของปริมาณของอาหารที่รับประทานและชนิดของอาหาร การงดรับประทานอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง พยายามลดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอาการได้เป็นอย่างดี